ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การจัดตั้งดับเพลิงเทศบาลขึ้นเป็นครั้งแรกของกระทุ่มแบน

การจัดตั้งดับเพลิงเทศบาลขึ้นเป็นครั้งแรกของกระทุ่มแบน

          หากจะกล่าวถึงเรื่องการบรรเทา และป้องกันสาธารณภัย หรือจะเรียกสั้นๆ แบบชาวบ้านว่า การดับเพลิงในสมัยก่อนของกระทุ่มแบน ก็คงต้องย้อนไปในสมัยที่ขุนสุคนธวิทศึกษากร ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกระทุ่มแบน เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งดับเพลิงของเทศบาลขึ้น โดยเท่าที่ผมมีข้อมูล ไม่มีการกล่าวถึงปีจัดตั้งครั้งแรก แต่อยู่ในช่วงที่ขุนสุคนธวิทศึกษากรดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแน่นอน ซึ่งอยู่ในช่วง 12 พฤษภาคม 2488 - 29 เมษายน 2501 

          ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพขุนสุคนธวิทศึกษากร (สำอางค์ สุคนธวิท) และในสมุดบันทึกด้วยลายมือของเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน ที่บันทึกโดยคุณประชุม เณรจิตต์ ข้าราชการบำนาญ เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน และ อสม. ชุมชนดอนไก่ดี เมื่อ 15 ตุลาคม 2543 ประมวลแล้วก็มีระบุไว้เพียง

          "มีการจัดตั้งดับเพลิงเทศบาลขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้เรือจากกระทรวงมหาดไทย 2 ลำ และมีเจ้าหน้าที่ประจำพร้อม"

เรือดับเพลิงกระทุ่มแบนทั้ง 2 ลำ จอดอยู่ในคลองภาษีเจริญ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน เมื่อราว ยุค 2510 กว่า
เรือดับเพลิงกระทุ่มแบนทั้ง 2 ลำ จอดอยู่ในคลองภาษีเจริญ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน เมื่อราว ยุค 2510 กว่า

          ครั้งหนึ่งผมเคยสอบถาม ลุงแดง หรือนายเทียนชัย บานแย้ม แห่งคานเรือกระทุ่มแบนที่เชิงสะเพานเริงบุญ เมื่อราว 4-5 ปีก่อน ได้ทราบว่า ลุงแดงเคยได้มีโอกาสซ่อมเรือดับเพลิงชุดนี้ ไม่แน่ใจว่าลำใด โดยลุงแดงเล่าว่า 

          "เรือดับเพลิงที่เคยจอดอยู่ในคลองหน้าที่ว่าการอำเภอ เป็นเรือมาจากญี่ปุ่น ของเดิมเครื่องทองเหลือง บางส่วนทำมาจากไม้ฉำฉาหุ้มทองแดงครึ่งลำที่อยู่ใต้น้ำ ด้านในมีห้องกันไฟด้วย"

          ผมมองว่าเป็นความคุ้มค่าและปลอดภัยที่ชาวตลาดกระทุ่มแบนได้รับจากเรือดับเพลิงทั้ง 2 ลำนี้มาหลายปี ด้วยสมัยก่อนนั้นเส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นเส้นทางหลัก บ้านเรือนและความเจริญจึงมักตั้งหลักปักฐานกันตามแนวคลองภาษีเจริญ ฉะนั้นหากเกิดเหตุเพลิงไหม้เรือนไม้ริมคลอง เรือดับเพลิงก็สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที จนภายหลังการคมนาคมด้วยรถยนต์บนถนนเข้ามาแทนที่ก็มีการปรับเปลี่ยนกันไป มีรถดับเพลิงเพิ่มเติมขึ้นมา

คุณไมตรี วิยาภรณ์นั่งอยู่บน รถดับเพลิงเทศบาลตำบลกระทุ่มแบนในสมัยนั้น ราว พ.ศ. 2510-2520 ทะเบียน สค 01152 ยี่ห้อโตโยต้า
คุณไมตรี วิยาภรณ์นั่งอยู่บน รถดับเพลิงเทศบาลตำบลกระทุ่มแบนในสมัยนั้น ราว พ.ศ. 2510-2520 ทะเบียน สค 01152 ยี่ห้อโตโยต้า

          ส่วนตัวผมเองไม่ทราบแน่ชัดว่าในคราวแรกนั้นเรือดับเพลิงจอดประจำการอยู่ที่บริเวณใด เท่าที่จำความได้ก็เคยเห็นจอดอยู่ในคลองภาษีเจริญหน้าที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน และเคยเห็นจอดอยู่ที่ท่าริมคลองภาษีเจริญของเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน โดยช่วงระยะหลังเห็นมาประจำการจอดอยู่ที่อาคารสถานีเรือดับเพลิง 1 เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน บริเวณฝั่งตลาดบุญมี กรรณสูต ใกล้สะพานแป๊ะกงในตลาดกระทุ่มแบนมาโดยตลอด


เรือดับเพลิง 2 ลำแรกของกระทุ่มแบนจอดอยู่ที่สถานีเรือดับเพลิง ใกล้เชิงสะพานแป๊ะกง เมื่อราว พ.ศ. 2540

          หากนับจากช่วงหลังสุดที่เป็นไปได้ในการมีเรือดับเพลิงประจำการที่ตลาดกระทุ่มแบนครั้งแรก ก็คือช่วงกลางปี พ.ศ. 2501 และเมื่อนับเวลาจวบจนถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลา 60 กว่าปี เกือบ 70ปี ที่เรือดับเพลิง 2 ลำนี้ (ไม่แน่ใจปัจจุบันยังอยู่ทั้ง 2 ลำหรือไม่) อยู่คู่กับกระทุ่มแบนมา ซึ่งวันหนึ่งผมเชื่อว่าคงต้องเสื่อมสภาพหรือปลดประจำการไปตามกาลเวลาอย่างแน่นอน หากได้แต่แอบหวังว่าเรือดับเพลิงนี้จะอยู่คู่กับกระทุ่มแบนและคลองภาษีเจริญไปนานๆ ไม่ว่าจะในฐานะเรือดับเพลิงรุ่นเก๋า หรือจะในฐานะเชิงสัญลักษณ์ หรืออาจเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของคลองภาษีเจริญและกระทุ่มแบนต่อไป เพราะเชื่อเลยว่าในประเทศไทยเราคงจะเหลือดับเพลิงรุ่นคุณปู่เช่นนี้จำนวนไม่มากแน่นอน


หนึ่งเรือดับเพลิงสองลำแรกของกระทุ่มแบนยังคงจอดอยู่ที่อาคารสถานีเรือดับเพลิง 1 เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน สมุทรสาคร เมื่อมีนาคม 2566 (ส่วนอีกลำผู้เขียนไม่ทราบข้อมูล)

งานบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย เทศบาลเมืองกระทุ่มแบนในปัจจุบัน ที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินในย่านกระทุ่มแบนและใกล้เคียง (ภาพต้นฉบับถูกเบลอป้ายชื่อด้วยเรื่องความเป็นส่วนตัวของระบบ Google Map)

         ผมไม่ได้กลับกระทุ่มแบนมาสักระยะแล้วเลยไม่ทราบความเป็นอยู่ของเรือทั้ง 2 ลำ หากท่านใจทราบข้อมูล หรือมีประสบการณ์ความผูกพันกับเรือดับเพลิงนี้ หรือ ขับรถผ่าน ถ่ายรูปมาให้ชมหรือแนะนำข้อมูลกันได้นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ

11 พฤษภาคม 2565
กระทุ่มแบนโฟโต้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

กว่า ๙๐ ปี "ร้านกิมกี่" และเรื่องเล่าจากเจ้าของร้าน

ตลาดกระทุ่มแบนเป็นอีกหนึ่งชุมชนอันเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญมาหลายร้อยปีในอำเภอกระทุ่มแบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองภาษีเจริญในบริเวณตลาด ใกล้กับจุดที่คลองกระทุ่มแบนตัดผ่านกับคลองภาษีเจริญ หรือคนเก่าๆ ในพื้นที่เรียกกันว่า “ตลาดสี่แยก” หรือ “ตลาดสี่กั๊ก” อันเป็นตลาดน้ำที่คนรุ่นเกิดก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บอกเล่ากันเป็นเสียงเดียวว่ามีความคึกคัก มีเรือแน่นเป็นร้อยลำทั้งเรือพ่อค้าแม่ค้า และเรือชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของในยามเช้า เรือนไม้ริมคลองบริเวณถนนเจริญสวัสดิ์นับตั้งแต่สามแยกโรงพิมพ์วิไลพาณิชย์ยาวเรื่อยไปจนถึงศาลหลวงตาทองก็จะเป็นห้องแถวไม้เก่าที่เป็นแถวแนวยาว บางส่วนมีการก่อสร้างขึ้นในยุค ๒๔๙๐ แต่บางส่วนก็มีการก่อสร้างมาก่อนหน้านั้น มีห้องแถวอยู่ช่วงหนึ่งฝั่งตลาดบริเวณเชิงสะพานแป๊ะกง หรือที่หลายคนเรียกกันอีกชื่อว่า “ตลาดบุญมี” ที่ยังคงสภาพความเป็นเรือนไม้เก่าที่ขนาบข้างด้วยอาคารคอนกรีตที่ปลุกขึ้นมาทดแทน ทำให้ผมได้มีโอกาสได้พอเห็นสภาพเดิมของห้องแถวรุ่นแรกๆ ของตลาดกระทุ่มแบนอยู่บ้าง แต่จะมีอยู่ร้านหนึ่งที่มีป้ายระบุอายุร้านชั...

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ ...