ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?


โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว
ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562




คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป

ในตอนนี้ขอกล่าวถึงโบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน) มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มีภาพเล่าเรื่องพระมหาชนก

โบสถ์ลักษณะที่กล่าวข้างต้น นิยมเรียกว่า "โบสถ์มหาอุด"  ซึ่งหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย

"โบสถ์มหาอุด" สะกดด้วย ตรงตัว ไม่ใช่ "มหาอุตม์" อย่างที่หลายท่านเข้าใจกันอยู่ เดิมทีผู้เขียนก็เข้าใจว่าสะกดด้วย ตม์ แต่เมื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ และทราบแบบที่ถูกแล้ว จึงคิดว่าควรเขียนให้ถูกต้องและนำมาเผยแพร่ให้ได้ทราบกัน

ทั้งนี้มีการอธิบายไว้ในรายการวิทยุ ชื่อรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. โดยมีการเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ดังนี้


อุด-มหาอุด

คำว่า อุด หมายถึง จุกช่อง หรือ ปิดให้แน่น. คำนี้อาจประกอบกับคำว่า มหา ซึ่งหมายถึง ใหญ่ ยิ่งใหญ่. ได้คำว่า มหาอุด แปลว่า อุดอย่างยิ่งใหญ่

          มหาอุด มี หลายความหมาย ความหมายหนึ่ง คือลักษณะเฉพาะของโบสถ์หรือวิหารขนาดย่อมที่ก่อเป็นผนังทึบ ไม่มีหน้าต่าง และเจาะช่องประตูด้านหน้าเป็นทางเข้าออกเพียงด้านเดียว นิยมสร้างในสมัยอยุธยา เพื่อประสงค์ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมอย่างมีสมาธิ หรือให้เกิดความขลังในการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะพิธีปลุกเสกพระเครื่องหรือวัตถุมงคล เช่น อุโบสถวัดตึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. อีกความหมายหนึ่ง คือ พระเครื่องที่ทำเป็นพระปิดตาหรือปิดทวารอื่น ๆ เรียกว่า พระมหาอุด เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ทางทางป้องกันอาวุธและทางเมตตามหานิยม. นอกจากนี้ มหาอุด ยังหมายถึง เครื่องรางของขลังหรือคาถาที่บริกรรมปลุกเสก เชื่อว่าช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน.

นอกจากนี้ พจนานุกรมแบบออนไลน์ แปลไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

มหาอุด หมายถึง น. เครื่องรางของขลังที่ช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของอยู่ยงคงกระพัน

โบสถ์หรือวิหารที่มีผนังทึบตันรอบด้านมีช่องทางเข้าออกเฉพาะประตูด้านหน้าแห่งเดียวเพื่อประโยชน์ในการทำพิธีที่เชื่อว่าจะทำให้ขลังยิ่งขึ้น.


โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว เมื่อปี พ.ศ. 2537
ภาพจากหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนท่องเที่ยว ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2537

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว กระทุ่มแบน ถ่ายเมื่อ 24 พ.ค. 2551
ปัจจุบันผนังโบสถ์ด้านนอกได้ปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเผานูนสูงเรื่องพระมหาชนก


ส่วนในทางไสยศาสตร์แล้ว มีการกล่าวถึงเรื่อง มหาอุด และ มหาอุตม์ ไว้ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (ต้นทางไม่ได้ระบุฉบับและวันที่) ซึ่งขอคัดลอกมาบางส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

"...วิชามหาอุตม์ เป็นศาสตร์วิชาที่ให้คุณวิเศษทางความอุดมสมบูรณ์ ทำมาหากินคล่อง มีกินไม่มีหมดผู้ใช้ต้องหมั่นสวดภาวนา วิชามหาอุตม์เป็นอักขระพระคาถามหายันต์ที่นำไปลงวัตถุมงคลต่างๆหรือปลุกเสกสิ่งของนำมาบูชา จนกระทั่งนำอักขระมหายันต์มาสักยันต์ลงบนร่างกาย แต่ถ้าจะให้เกิดคุณโดยเร็ว ต้องหมั่นภาวนาพระคาถากำกับไว้ ถือว่าเป็นมนต์มหาเสน่ห์ มหานิยมเมตตาเป็นเลิศ เช่นนกถึดทือ เจ้ามือวิ่งหนี หรือ นกถึดทือ กระพือเรียกลาภ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขาม

....ศาสตร์วิชามหาอุตม์นี้ หลายท่านคิดว่าเป็นมหาอุด ที่หมายถึง อุดลูกปืน อุดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าตัวอะไรประมาณนี้ซึ่งความจริงแล้ว วิชาที่อุดลูกปืนหรือป้องกันสิ่งชั่วร้ายนั้น อยู่ในหมวดวิชาอยู่ยงคงกระพัน วิชานี้ป้องกันอาวุธต่างๆ ได้ ป้องกันสิ่งเลวร้ายได้ อย่างเช่น ผู้ที่มีวิชาอยู่ยงคงกระพันถูกยิงด้วยปืน ถึงแม้ลูกปืนจะยิงออกและถูกเข้าตามร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปได้ อย่างนี้เป็นต้น..."

สรุปได้ง่ายๆ ว่า เราต้องเขียนอย่างถูกต้องโดยยึดตามราชบัณฑิตยสภาว่า "วัดนางสาวมีโบสถ์มหาอุด" ไม่ใช่ "วัดนางสาวมีโบสถ์มหาอุตม์"



------------
เอกสารและแหล่งอ้างอิง
  • คณะกรรมการดำเนินโครงการจัดทำหนังสือ จ.สมุทรสาคร.  (2541).  วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร.  หน้า 111
  • บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. สืบค้นจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา http://www.royin.go.th/?knowledges=อุด-มหาอุด-๘-พฤษภาคม-๒๕๕๑ [1 เม.ย. 2562]
  • พจนานุกรมแบบออนไลน์ แปลไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สืบค้นจากจาก https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute/มหาอุด [1 เม.ย. 2562]
  • ไสยศาสตร์...เคล็ดวิชามหาอุตม์อยู่ยงคงกระพัน. หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (ไม่ทราบฉบับและวันที่) สืบค้นจาก http://www.arjanram.com/relic_detail.php?g=4&id=82 [1 เม.ย. 2562]

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo